Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Thursday, November 22, 2018

ประเพณีวันลอยกระทง วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองก็เต็มตลิ่ง

ประเพณีวันลอยกระทง วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองก็เต็มตลิ่ง

จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม






        วันลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของชาวอินเดียเป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยได้รับประเพณีสืบต่อมา ตรงกับวันขี้น 15 ค่ำ เดือน 12 

        ประเพณีลอยกระทงมีมาแต่โบราณ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคา เพื่อลอยเคราะห์ ลอยความทุกข์ ลอยความโศก  และบูชาพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ มี พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม เป็นต้น

          กล่าวกันว่านางนพมาศ สนมเอกของพระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย ทำกระทงรูปดอกบัวบาน 
และกระทงรูปอื่นๆ ถวาย พระร่วงทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหล

          และกล่าวว่าในสมัยตันรัตนโกสินท์ ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวบานเพราะดอกบัวบานหายากจึงใช้ต้นกล้วยและใบตองมาพับแต่งคล้ายดอกบัวบานให้สวยงาม จึงนิยมสืบทอดมาถึงปัจจุบัน 

         ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำกระทงตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบานซึ่งทำด้วยต้นกล้วยใบตอง ปักธูปเทียน ดอกไม้ และตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญสตางค์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในแม่น้ำ ลำคลอง ส่วนในพื้นที่ติดทะเลก็นิยมลอยกระทงใกล้ริมฝั่งให้ลอยออกไปในทะเล เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ ลอยความทุกข์ ลอยความโศกไปตามสายน้ำไหล เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น และยังเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา ที่ได้ทำสิ่งสกปรกลงไปในแม่น้ำ

        ยังมีตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งได้สืบทอดกันมาดังนี้
1.      การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากได้แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาจนบรรลุพระโสดาบรรลุ์
2.      การลอยกระทง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อครั้งเสด็จไปแสดงพระธรรมโปรดในนาคพิภพ
3.      การลอยกระทง เพื่อบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
4.      การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
หมายเหตุ โปรดอย่าลืมช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ในแม่น้ำ ลำคลอง ชายหาด จะได้สะอาดและได้บุญเพิ่มขึ้นอีก


ทำกระทงจากต้นกล้ายใบตองสวยๆง่ายๆ แบบประหยัด



ทำกระทงด้วยต้นกล้วยและใบมะพร้าว : ทำง่ายๆประหยัดเงิน




Friday, April 7, 2017

ประเพณีจัดงานผู้วายชนม์ของบุตรหลานจีนฮกเกี้ยนภูเก็ต-พังงา

ประเพณีจัดงานผู้วายชนม์ของบุตรหลานจีนฮกเกี้ยน

ภูเก็ต-พังงา

   

จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม
เพื่อความรู้เกี่ยวกับประเพณีสำคัญของภูเก็ต

ประเพณีการจัดงานให้บรรพชนผู้ล่วงลับของลูกหลานจีนฮกเกี้ยนภูเก็ต-พังงา
กล่าวกันว่าเป็นงานค่อนข้างแพงตามฐานะและยุ่งยากพอสมควรตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาเพื่อให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรืองต่อไปภายหน้า จึงมีกฎเกณฑ์มากมายหลายอย่าง เช่น เทศกาลตรุษจีนก็ทำพิธีจัดงานให้ผู้ล่วงลับไม่ได้ ต้องเอาไปไว้ที่ห้องเย็นของโรงพยาบาลก่อน ถ้าหากมีคนเสียชีวิตนอกบ้าน ญาติจะไว้ในบ้าน ต้องเอาเข้ามาทางหลังบ้าน การตั้งตัวฉู่ที่ใส่ร่างผู้เสียชีวิต ถ้าเป็นเจ้าบ้านตั้งไว้กลางบ้านหันปลายเท้าตรงประตูได้ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องตั้งไว้ข้างๆ และต้องมีผู้มีความรู้เป็นผู้ทำพิธีกรรมต่างๆ มากมายหลายขั้นตอน บางอย่างผู้ชายทำไม่ได้ต้องเป็นผู้หญิงทำพิธี นอกจากนั้นยังมีเรื่องการหาที่ดินฝังตัวฉู่ของผู้วายชนม์ การไว้ทุกข์ควรเป็นสักกี่ปีกี่วัน ท่านผู้รู้ประเพณีว่า 3 ปี 1 ปี 100 วัน หรือ 50 วัน แล้วแต่ศรัทธา เป็นต้น
สัญญลักษณ์การไว้ทุกข์จะติดกระดาษขาวแผ่นยาวเป็นรูปตัวสีขาวเหนือประตูหน้าบ้าน ถ้าหากออกเขียว (ไว้ทุกข์ 90 - 100 วัน) จะเปลี่ยนกระดาษเป็นมีเขียว เมื่อออกแดงแล้วก็จะเปลี่ยนกระดาษเป็นสีแดง เพื่อให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านรู้ว่าได้สิ้นสุดการไว้ทุกข์ให้ผู้ญาติผู้วายชนม์แล้ว

          เมื่อมีญาติเสียชีวิต กล่าวว่าต้องเอาไว้ 1 วัน 1 คืน ก่อนใส่ตัวฉู่ (บ้านใหญ่) ที่ใส่ร่างผู้วายชนม์ (ซึ่งอาจฟื้นคืนชีพก็ได้) ญาติต้องไปซื้อตัวฉู่ (บ้านใหญ่) ที่ทำด้วยต้นไม้ราคาหลายหมื่น ห้ามต่อราคาแต่เพิ่มได้ เชื่อว่าจะทำให้ลูกหลานเจริญดีมีสุข  มีญาติผู้ใหญ่มีศักดิ์เป็นพี่ของบิดาซื้อตัวฉู่เก็บไว้ในวัดหลายปีให้คนอื่นยืมใช้ เชื่อว่าจะทำให้อายุยืน เมื่อเสียชีวิตแล้วมีอายุยืนเกือบร้อยปี เอาไปฝังในที่ส่วนตัวบนเชิงเขามองเห็นทะเล เอาอะไรไปไม่ได้นอกจากบุญและบาปกรรมที่ทำไว้ ตามประเพณีจีนฮกเกี้ยนหลังจากญาติวายชนม์ก็ทำพีธี 7 วัน เสร็จแล้วก็ต้องให้ซินแสหรือผู้รู้ไปหาที่ฝัง จะเป็นที่ดินส่วนตัวหรือสุสานจีนฮกเกี้ยนก็ได้ ตามความเหมาะสม ท่านผู้มีความรู้ด้านฮ่วงจุ้ย แนะนำว่าข้างหลังต้องมีที่พิงเนินสูง แข็งแรง มั่นคง เช่น ภูเขา ข้างหน้าต้องลาดลงไปมีแม่น้ำไหลผ่าน ขุมน้ำ ทะเล ไม่ขัดหลักฮวงจุ้ย (ทีศทางลมและทิศทางน้ำ) การตรวจที่ดินผู้รู้ต้องมีลอเก (เข็มทิศจีน) ต้องซื้อจากปีนัง เพื่อจะทำให้บุตรหลานเจริญรุ่งเรือง

          ประสบการณ์จริง คุณแม่ชื่อสอหลี แซ่เอียบ (สารีย์ ภูวรัตน์) วายชนม์ด้วยวัยชราภาพตรงกับวันโชยอิดตอนเที่ยงวันที่ 28 มกราคม 2560 อายุ 92 ปีจริง (แต่คณะจัดงานเพิ่มให้อีกเป็น 97 ปี) มีบุตรชาย 11 คน (เสียชีวิตแล้ว 1 คน) บุตรหญิง 6 คน (ยกให้อาหญิง 3 คน) มีหลาน 22 คน เหลน 12 คน คุณแม่เป็นใจดีช่วยเหลือเพื่อนบ้านและญาติ ได้อุทิศที่ดินให้เทศบาลตำบลเชิงทะเล 3 แปลงเพื่อทำถนนสาธารณะให้ที่ดินที่ตาบอดออกถนนใหญ่ไม่ได้หลายแปลง ทำบุญที่วัดและศาลเจ้าเป็นประจำ

            ได้เริ่มพิธีอาบน้ำ แต่งตัวให้เรียบร้อย ให้บุตรหลานกราบไหว้ขอขมาอโหสิกรรมทั้งกายวาจาและใจ แต่ทำพิธีต่อไม่ได้เพราะเป็นเทศกาลตรุษจีน จึงนำไปเก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาลท้ายเหมือง หลังตรุษจีนวันไหว้เทวดาโชยเก้าแล้วจึงนำร่างของคุณแม่มาทำพิธีที่บ้าน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ได้หาผ้าใหม่ๆนิยมสีแดงมาปิดหน้าหิ้งพระ (ถ้ามีกระจกก็เอาแป้งละลายน้ำทากระจก) กั้นม่านสีตองอ่อน เสร็จแล้วจึงนำร่างของมารดามานอนบนเตียงในห้องใหญ่หันปลายเท้าออกหน้าบ้าน ดูแลการแต่งตัวใส่เสื้อผ้าให้สวยงามสมฐานะ (จะกล่าวถึงตามประเพณีโบราณว่าต้องใส่ 7 ชั้น แต่ปัจจุบันจะใส่กี่ชั้นก็ทำกันไปตามความนิยมจะใส่สีอะไรก่อนหลังตามธรรมเนียมจีนกล่าวว่าชั้นในสุดเป็นสีขาวและสีชมพูถัดมา ต่อไปเป็นสีอื่นๆ มีความหมายอย่างไรต้องถามผู้รู้พิธีกรรม แล้วใส่มุกแท้ไว้ในปากผู้มรณภาพ 1 เม็ด เชื่อว่าจะส่องแสงสว่างนำทางให้ไปสู่สุคติ เครื่องประดับนิยมเงิน มุก หยกแท้ ไม่นิยมทองคำ แล้วคลุมร่างผู้จากไปด้วยผ้าใหม่ และตั้งโต๊ะเครื่องไหว้ มีผักกาดรวมทั้งรากลวกน้ำร้อน 1 ต้น ตะเกียบ 1 คู่ ข้าว 1 ถ้วย ถาดใส่ขนมอาหารที่ท่านชอบ และหมากพลู (วันแรกลืมหมากพลู คนทรงธิดาพญานาคใกล้บ้านบอกว่าคุณแม่ขอให้จัดหมากพลูให้ด้วย) ธูปเทียน กระดาษเงิน ที่เผากระดาษเงิน และตะเกียงน้ำมัน (ต้องจุดไว้ตลอดเวลาจนครบกำหนดตัวฉู่ย้ายออกจากบ้านแล้วจึงนำไปทิ้งได้)
         

          พิธีออกไปรับตัวฉู่ (บ้านใหญ่) เข้ามาในบ้าน ผู้ทำพิธีใส่ชุดดำ (ชื่อนายฮก) จะนำบุตรชายคนโต (ถ้าไม่มีบุตรคนโตให้บุตรคนรองหรือหลานชายคนโตก็ได้) ถือถุงห่อผ้าสีแดง (ภายในใส่ข้าวสาร ข้างนอกมีไม้ฟืนสีขาวผูกไว้ 9 อัน ท่านว่าสำหรับใช้หุงข้าว) ซึ่งจะใช้สำหรับตั้งบนตัวฉู่ด้านศีรษะผู้เสียชีวิต ออกไปรับตัวฉู่ (บ้านใหญ่) นายฮกบอกว่าให้บุตรชายคนโตพูดตลอดเวลาว่าตัวฉู่ (บ้านใหญ่) ของคุณแม่มาแล้วๆๆ...จนกระทั้งนำตัวฉู่เข้าไปตั้งไว้ในห้องโถงกลางบ้าน หันปลายเท้าไปทางประตูหน้าบ้าน
หมายเหตุ บุตรหลานจะใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบสวมเสื้อทำด้วยใยปอทอหยาบทับคาดเชือกมีสตางค์แดงผูกอยู่ และสวมหมวกทำด้วยใยปอทอหยาบหรือผ้าขาว
ผู้นำตัวฉู่บรรทุกรถยนต์มาส่งเป็นทีมงานของนายปุ๋ยซึ่งเป็นช่างทำบ่องป๋ายให้ด้วย

          ก่อนทำพิธีกรรมนำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุลงในตัวฉู่ (บ้านใหญ่) ต้องเตรียม กระดาษเงินพับเป็นรูปแท่งเงินจีน ขี้เถ้า ใบชาชนิดหยาบ หมอนสำหรับรองศีรษะ เป็นรูป 4 เหลี่ยมสีขาว 2 ข้างงอโค้งปลายแหลมมียอดสีแดง ภายในบรรจุกระดาษเงิน กระดาษทอง สิ่งละพับ ถ้าเป็นผู้ชาย (กระดาษทองอยู่ซ้าย กระดาษเงินอยู่ขวา) ถ้าเป็นผู้หญิง (กระดาษทองอยู่ขวา กระดาษเงินอยู่ซ้าย) และใส่ไว้ที่ศีรษะกันกระแทกและใส่กระดาษเงินแผ่นเล็กๆ พับละหมื่นบาท จำนวนหนึ่ง เชื่อว่าจะเป็นเงินติดตัวผู้เสียชีวิต และผ้าใช้ห่มร่างผู้เสียชีวิต (ผู้ทำพิธีกรรมจะเตรียมอุปกรณ์ในการทำพิธีมาพร้อมให้ทุกอย่าง)
         
          การทำพิธีนำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุลงในตัวฉู่ โดยนายนก (ลูกศิษย์แป๊ะหยกจ๋วน) ผู้มีความรู้ทำพิธี โรยขี้เถ้าลงไปในตัวฉู่ (บ้านใหญ่) และกล่าวคำที่ดีๆ ลูกหลานจะตอบรับพร้อมกัน แล้วโรยใบชาชนิดหยาบ กระดาษเงินที่พับไว้ ปูทับด้วยกระดาษเงินแผ่นเล็กๆ วางหมอนหนุนศีรษะ แล้วจึงนำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุลงในตัวฉู่ และลูกหลานจะเขียนเครื่องหมายลงบนกระดาษเงินที่ทุกคนถืออยู่วางไว้ข้างร่างผู้เสียชีวิต จะใส่การบูรด้วยก็ดี คลุมผ้าห่มสีเหลืองมีตัวหนังสือจีนเสร็จแล้วจึงปิดฝาตัวฉู่ แล้วตอกตาปูทั้ง 4 มุม ผู้ทำพิธีตอกตาปูทีละมุมพร้อมกล่าวคำที่ดีๆ จนเสร็จพิธี แล้วคลุมผ้าห่มแพรสีแดงบนตัวฉู่ตั้งถุงห่อผ้าสีแดงบนผ้าคลุมด้านศีรษะ และตั้งเครื่องไหว้วิญญาณขนมเหนียวกวนใส่ถ้วย 7 ที่ ตะเกียบ 7 คู่รองด้วยกระดาษทอง ตั้งบนผ้าแพรแดงที่ใช้คลุมตัวฉู่  (ท่านผู้รู้ว่าไว้ให้คุณแม่รับประทานวันละถ้วยจนครบ 7 วันระหว่างมาเยี่ยมบุตรหลานที่บ้าน  เรียงลงมาจากถุงห่อผ้าแดง ภายในใส่ข้าวสาร ข้างนอกมีไม้ฟืนสีขาวอันเล็กๆผูกไว้ 9 อัน ท่านว่าสำหรับใช้หุงข้าว เวลาคุณแม่เดินทาง (ตำนานโบราณเล่าว่าเมื่อผู้วายชนม์กินขนมเหนียวกวนแล้วติดมือทำให้หนังนิ้วหลุดออกจึงรู้ว่าตนเองได้เสียชีวิตแล้ว ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ ท่านว่าอย่าลบหลู่)
หมายเหตุ บุตรหลานจะใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบสวมเสื้อทำด้วยใยปอทอหยาบทับคาดเชือกมีสตางค์แดงผูกอยู่ และสวมหมวกทำด้วยใยปอทอหยาบหรือผ้าขาว
       
  








                            





          การทำพิธีตี่ก๊วนเดินวนรอบตัวฉู่ (บ้านใหญ่) โดยวนขวา 3 รอบ วนซ้าย 3 รอบ คุกเข่าไหว้ด้วยธูป 2 ดอก 4 ครั้ง กราบ 4 ครั้ง ผู้ทำพิธีตี่ก๊วนโดยนายฮกใส่ชุดดำเดินสั่นระฆังพร้อมสวดมนต์นำตามด้วยบุตรชายคนโตถือตงฮวนด้ามไม้ไผ่ตอนปลายมีกิ่งและใบไผ่ แขวนโคมกระดาษทรงกลมอันใหญ่อยู่บนอันเล็กอยู่ล่างสีแดงลวดลายสวยงามที่สถิตดวงวิญญาณมีแผ่นกระดาษสีขาวยาวลงมาเขียนชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิดและวันเดือนปีที่วายชนม์ บุตรหลานเดินตามกันเป็นแถวจนเสร็จพิธี

หมายเหตุ บุตรหลานจะใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบสวมเสื้อทำด้วยใยปอทอหยาบทับคาดเชือกมีสตางค์แดงผูกอยู่ และสวมหมวกทำด้วยใยปอทอหยาบหรือขาว
         

                            









                            

                            



                การปรับปรุงสถานที่รอบบริเวณบ้าน กางเต๊น (ประรำ) ใหญ่เล็กสำหรับโรงครัวเตรียมอาหารเครื่องดื่ม  โต๊ะเก้าอี้ที่นั่งสำหรับแขกที่มาร่วมทำบุญในงาน เต๊นเครื่องขยายเสียง ที่ทำกงเตก (ทำบุญกุศล) ที่นั่งพระสงฆ์สวดอภิธรรมบังสุกุล และดูแลห้องน้ำห้องสุขาให้สะอาด กวาดใบไม้ ขยะรอบบริเวณบ้าน และที่เก็บถุงขยะ เป็นต้น
        การตกแต่งภายในบ้านรอบตัวฉู่ ประดับดอกไม้สวยงายมีรูปคุณแม่และป้ายชื่อ
ที่บูชาพระพุทธรูป ที่นั่งอาสนะพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมและบังสุกุล ธรรมมาสน์สำหรับพระเทศนา ข้างบ้านมีที่ตั้งพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์ โต๊ะทำพิธีกงเตก (ทำบุญกุศล) หน้าบ้านแขวนโคมไฟกระดาษ 2 อัน นายปุ๋ยเรียกว่า เต้ง (ท่านผู้รู้ว่า ถ้าเป็นผู้ชายให้จุดไฟด้านซ้าย ถ้าเป็นหญิงให้จุดไฟด้านขวา)
 







พิธีกงเตกทำบุญให้คุณแม่สอหลี แซ่เอียบ ตามประเพณีฮกเกี้ยน ที่บ้านท่าซอ อ. ท้ายเหมือง จ. พังงา (สมใจน้องสาวถ่ายวีดีโอ)  https://youtu.be/NMyrfgUeK50

          การไหว้อาหารและพิธีกรรมตลอด 7 วัน (6 - 12 ก.พ. 2560)
                ตอนเช้าไหว้ขนมอาหาร หมากพลู เครื่องดื่ม น้ำดื่ม น้ำล้างหน้า ผ้าเช็ดหน้า
              ตอนเที่ยงไหว้ขนมอาหารที่ท่านชอบ หมากพลู เครื่องดื่ม น้ำดื่ม
           นิมนต์พระภิกษุมาฉันอาหารเพลเสร็จแล้วกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้คุณแม่-ญาติ
         ตอนเย็นไหว้ขนมอาหารที่ท่านชอบ หมากพลู เครื่องดื่ม น้ำดื่ม
         ตอนค่ำนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรมและบังสุกุล กรวดน้ำอุทิศบุญกุศล
         หมายเหตุ เวลาไหว้อาหาร และเวลาพระสงฆ์มาสวดมนต์ หรือทำพิธีกงเตก ให้
          บุตรหลานตั้งจิตบอกผู้วายชนม์ให้ทราบด้วย (ประเพณีโบราณแนะนำให้เคาะ
          ข้างตัวฉู่ (บ้านใหญ่) และบอกให้ผู้เสียชีวิตทราบด้วย)








พิธีกงเตกทำบุญให้คุณแม่สอหลี แซ่เอียบ ตามประเพณีฮกเกี้ยน ที่บ้านท่าซอ อ. ท้ายเหมือง จ. พังงา (ลูกศิษย์เล็กถ่ายวีดีโอ)   https://youtu.be/Zd6c7k3Jac4

                ทำพิธีกงเตก (ทำบุญกุศล) 2 วันคือวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ วันละ 5 รอบ (เช้า
         เที่ยง บ่าย เย็น กลางคืน) ส่วนประกอบพิธีมีรูปพระพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์
         และเทวดาฝ่ายมหายาน รูปการตัดสินบุญบาปที่เก็บบัญชีของยมพบาลเป็นต้น มีโต๊ะ            ทำพิธีมีระฆังมีทีเคาะ ฆ้อง กลอง คัมภีร์สวดมนต์ มีบ้านกระดาษ 4 หลัง 1 หลัง เป็น
         ของบุตรทำให้คุณแม่ไว้ใส่รูป อีก 3 หลัง บุตรเขย 3 คนทำให้คุณแม่ (นายปุ๋ยเรียกว่า            เป๋ง) มีโคมไฟกระดาษ 2 อัน (นายปุ๋ยเรียกว่า เต้ง)ทั้งหมดจะเอาไปทำพิธีเผาส่งให้คุณ          แม่บนสวรรค์ ที่บ่องป๋ายการทำพิธีกงเตกบุตรหลานนั่งคุกเข่าไหว้ธูป 3 ดอก และกราบ          3 ครั้ง มีตงฮวนอยู่ข้างหน้าฟังผู้ทำพิธีสวดมนต์สั่นระฆัง มีผู้ช่วยตีกลองและฆ้องร่วม            พิธีด้วยเสร็จแล้วผู้ทำพิธีเดินนำบุตรคนโตถือตงฮวนเดินตามพร้อมบุตรหลานไปนั่งฟัง
         สวดมนต์ที่หน้าตัวฉู่ ไหว้ 4 ครั้งด้วยธูป 2 ดอก แล้วเดินตามผู้ทำพิธี วนขวา 3
         รอบ วนซ้าย 3 รอบ แล้วกลับมาที่หน้าพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ฟังสวด
         มนต์ต่อจบแล้วกราบ 3 ครั้ง ทำเหมือนกับทุกรอบ (พิธีสุดท้ายเพิ่มข้ามสะพาน)
         คืนสุดท้ายเวลา 22 น. ทำพิธีข้ามสะพานไม้ปูกระดาษสีขาวเดินวน 7 รอบ โยน
         เหรียญ 49 อันใส่ในขันน้ำ (หมายถึงแม่น้ำ) รอบละ 7 เหรียญ หมายถึงการช่วย
         ส่งบุญกุศลให้คุณแม่ข้ามสะพานโอฆะสังสาระให้ปลอดภัยสู่สุคติด้วยดีหลัง
         ความตาย 49 วัน (ผู้ทำพิธีคือนายฮกและทีมงาน)
                           
          วันสุดท้ายเป็นวันเคลื่อนย้ายตัวฉู่ (บ้านใหญ่) จะบรรทุกรถยนต์จากบ้านท่าซอ อำเภอท้ายเหมือง จ. พังงา ไปยังสุสานจีนฮกเกี้ยนที่ตำบลเชิงทะเล จ. ภูเก็ต
พิธีที่สำคัญตอนเช้าวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 หลังไหว้อาหารแล้วจะทำพิธีตี่ก๊วนโดยนายฮกใส่ชุดดำสวดมนต์ส่วนระฆังเดินนำบุตรตัวโตถือตงฮวนและบุตรหลานเดินตามวนรอบตัวฉู่ (บ้านใหญ่) โดยวนขวา 3 รอบ วนซ้าย 3 รอบ คุกเข่าไหว้ด้วยธูป 2 ดอก 4 ครั้ง กราบ 4 ครั้ง ก่อนนำตัวฉู่ออกนอกบ้าน

           

            

            




      การไหว้คุณแม่ญาติพี่น้องและเทวดาฟ้าดินเจ้าที่เจ้าทางทั้งหลาย
ด้านหน้ามีโต๊ะใหญ่ยาวหน้าตัวฉู่ (บ้านใหญ่) จัดสิ่งของอาหารหวานคาว มี ข้าวสวย 1 ถ้วย ผักกาดเขียวทั้งรากลวกน้ำร้อน 1 ต้น ตะเกียบ 1 คู่ น้ำชาหรือเหล้า 4 จอก ขนมเต่เหลี่ยว ผลไม้ กุ้งต้ม ไก่ต้ม หมูย่าง 3 ตัว (หรือหัวหมู) สุรา โต๊ะหน้าสุดคลุมผ้าเนื้อดิบสีขาวทับด้วยผ้าทอด้วยปอ บนพื้นตั้งกระถางทรายปักต้นตระไคร้แกงทั้งราก 1 ต้น และปูเสื่อ 3 ผืนตามแนวยาวเพื่อไหว้คุณแม่ญาติพี่น้องเทวดาฟ้าดินเจ้าที่เจ้าทางซึ่งเป็นวิญญาณต่างๆ โดยมีบุตรหลานเหลนและญาติมาทำพิธีไหว้ตามลำดับกลุ่มดังนี้
1.      กลุ่มบุตรหลานใกล้ชิด (ท่านเรียกว่าฮ่าวหลาม) มีบุตรชาย บุตรสะใภ้ บุตรสาว หลานใน หลานนอก และน้องผู้วายชนม์ (ขณะไหว้นี้ไม่ต้องปูเสื่อ) บุตรชายคนโตหรือหลานชายคนโตก็ได้ คุกเข่าไหว้เคารพด้วยสุรา 4 จอก,
2.      กลุ่มพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของบุตรสะใภ้ (ท่านเรียกชินเกถาว) แต่งกายชุดดำสายสะพายสีขาว ก่อนไหว้ผู้ทำพิธีจะพาดสายสีแดงให้และปูเสื่อ 1 ผืน จึงไหว้
3.      กลุ่มบุตรเขย ผู้ทำพิธีจะปูเสื่อ 3 ผืน และวางผ้าห่ม 1 ผืนไว้ที่เสื่อผืนแรก แล้วทำพิธีดังนี้ บุตรเขยพับมุมผ้าห่มที่เสื่อผืนแรก ลุกขึ้นยืนแล้วจุดธูปไหว้ แล้วคลานไปที่เสื่อผืนสุดท้าย (ใกล้โต๊ะเครื่องไหว้) คุกเข่าไหว้เคารพด้วยสุรา 4 จอก คำนับ 4 ครั้ง แล้วถอยหลังมาที่เสื่อผืนกลาง คำนับ 4 ครั้ง แล้วจึงถอยหลังกลับ
4.      กลุ่มหลานเขย ถ้าเป็นบุตรเขยของบุตรชายให้ปฏิบัติเหมือนบุตรเขย แต่ต่างกันที่สายสะพายและแถบผ้าคาดที่แขน
5.      กลุ่มญาติห่างๆ ไหว้เคารพ
6.      กลุ่มบุตรหลานใกล้ชิด (ท่านเรียกว่าฮ่าวหลาม) ไหว้อีกครั้ง
หมายเหตุ การไหว้ผู้วายชนม์นั้น ถ้าคู่สมรสยังมีอยู่ให้จุดธูปไหว้ 1 ดอก ถ้าหากคู่สมรสเสียแล้วให้จุดธูปไหว้ 2 ดอก
 เสร็จแล้วเผากระดาษทองกระดาษเงินกระดาษทอง ให้คุณแม่ญาติพี่น้องและเทวดาฟ้าดินเจ้าที่เจ้าทางทั้งปวงเพื่อนำไปใช้บนสวรรค์ (ท่านผู้รู้ว่าใช้ไม่หมดก็ส่งกลับมาให้บุตรหลานได้ใช้ต่อไป)
         
การไหว้โดยบุตรหลานเหลนและญาติ มีพิธีกรเฉพาะงานนี้เป็นผู้ทำพิธี จะให้บุตรหลานถือไม้หุ้มกระดาษแก้วปลายเป็นพู่ฝอยกลมตลอดด้ามๆยาวเกือบศอก มีสีต่างๆ เช่น สีขาว สีน้ำเงิน สีขาวปนน้ำเงิน สีชมพู เป็นต้น เช่น บุตรชาย บุตรสะใภ้ หลานชายของบุตรชาย (หลานใน) บุตรสาวโสด ถือไม้พู่กระดาษสีขาว, บุตรสาวที่สมรส บุตรพี่ชาย บุตรน้องชาย ถือไม้พู่กระดาษสีขาวปนน้ำเงิน, บุตรของบุตรสาว (หลานนอก) ถือไม้พู่กระดาษสีน้ำเงิน (ส่วนเหลนถือสีชมพู ด้ามทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้อะไรต้องถามผู้มีความรู้ด้านพิธีกรรมนี้)

          การแต่งกาย ในพิธีกรรมวันนี้แตกต่างกัน  เช่น บุตรชาย บุตรสะใภ้ หลานชายของบุตรชาย (หลานใน) ใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบสวมเสื้อทำด้วยใยปอทอหยาบทับ และผู้ชายสวมหมวกทำด้วยใยปอทอหยาบ ผู้หญิงคลุมศีรษะด้วยผ้าคลุม, บุตรสาว ใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบ คลุมทับด้วยผ้าปอเนื้อเนียน คลุมศีรษะด้วยผ้าปอเนื้อเนียน, หลานสาวที่เกิดจากบุตรสาว (หลานนอก) ใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบ สวมหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยผ้าปอเนื้อเนียน, น้องสาวและบุตรน้องสาวใส่ชุดนุ่งขาวห่มขาวผ้าเนื้อดิบ สวมหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยผ้าเนื้อดิบ, บุตรเขยใส่ชุดดำสายสะพายสีน้ำตาล ผ้าคาดแขนสีน้ำเงิน,  หลายเขยใส่ชุดดำสายสะพายสีขาวดิบ ผ้าคาดแขนสีเขียวอ่อน, ญาติฝ่ายคุณพ่อ ผู้ชายใส่ดำทั้งชุด สายสะพายผ้าขาวหยาบ ผู้หญิงใส่ผ้าขาวเนียน ผ้าถุงดำคลุมศีรษะด้วยผ้าขาวเนื้อเนียน, ญาติฝ่ายคุณแม่ ผู้ชายใส่ดำทั้งชุด สายสะพายผ้าขาวเนียน ผู้หญิงใส่ผ้าขาวเนียน ผ้าถุงดำคลุมศีรษะด้วยผ้าขาวเนื้อเนียน (ผ้าทำด้วยใยปอทอหยาบหรือเนียน ท่านผู้รู้เรียกผ้าหมัว)

          ทำพิธีวันสุดท้ายหลังจากเคลื่อนย้ายตัวฉู่ (บ้านใหญ่) ออกจากบ้านแล้ว
เพื่อขอบคุณเจ้าที่ (แล่ะเกี้ยปับเตี่ย) ไหว้ด้วยน้ำชา 1 แก้ว กาแฟ 1 แก้ว
(ทำพิธีเสร็จแล้วให้เปิดหน้าต่างได้ปลดผ้าคลุมหิ้งพระ ลบแป้งที่ทากระจก กวาดขยะในบ้านให้เรียบร้อย บุตรหลานแต่งชุดฮ่าวหลามออกจากบ้านแล้วจะไม่แต่งชุดฮ่าวหลามกลับเข้าบ้านอีก)

การเตรียมอุปกรณ์ของใช้ในการทำพิธีนี้ ต้องถามท่านผู้รู้พิธีกรรมนี้
สำหรับปี 2560 ท่านผู้รู้ (นายนกลูกศิษย์แป๊ะหยกจ๋วน) ว่าให้ใช้เทียนแดง 13 อัน วางเป็นวงกลมรอบกะละมัง สตางค์แดง 1 พวง (365 อัน) ของไหว้มี ขนมอังกู้ 13 อัน ขนมหัวล้าน 13 อัน บิ่นผูน (กะละมัง) ใส่น้ำ มีไม้พาด 2 อัน  ขนมฮวดโก้ย 1 อัน วางตรงกลาง

ผู้ทำพิธีต้องเป็นหญิงมีสามีเป็นกิ่งทองใบหยกและมีบุตรหลาน (ผู้ชายหรือหญิงหม้ายจะเป็นผู้ทำพิธีกรรมนี้ไม่ได้) และให้กล่าวคำเป็นภาษาจีน ว่าดังนี้
“ซินลื่อหลายเตะเกี้ย เอียะเอ้ยเกี้ยสุ้นตัวชุดถาว
 ซินลื่อหลายเตะเกี้ย ฮ่าวหลามโจ้จอหงวน ฮ่าวลู่กิ้นก่าวหยิน
 ซินลื่อหลายเตะเกี้ย ฮกขี่ฉู้หลาย เสียงกะว่า”

หลังจากนั้นเสร็จพิธีแล้วคณะทีมงานก็นำตัวฉู่ (บ้านใหญ่) ขึ้นรถยนต์ คลุมด้วยเครื่องคลุมผ้าโครงเหล็กตกแต่งสวยงามมีรูปนกอยู่ข้างบนยอด ตั้งขบวนก่อนเดินทางมีรถดอกไม้นำ

                






 














                            








วันที่ 12 กุมภาพันธ์เป็นวันเคลื่อนย้ายตัวฉู่ (บ้านใหญ่) บรรทุกรถยนต์จากบ้านท่าซอ อำเภอท้ายเหมืองไปสุสานจีนฮกเกี้ยนที่ตำบลเชิงทะเล จ. ภูเก็ต ( ออกเดินทางประมาณเที่ยงวันถึงวัดเชิงทะเลบ่าย 2 โมง ตั้งขบวนแห่ตัวฉู่จากวัดเชิงทะเลมีคนช่วยหามชุดละ 32 คน เปลี่ยนผลัดกันหาม 3-4 ครั้ง ขณะเดินทางบุตรหลานจะโปรยกระดาษเงินไปตลอดทาง ท่านผู้รู้ว่าเพื่อขอเจ้าที่เจ้าทางเปิดทางผ่านตลอด นายฮกจะให้บุตรคนโตพูดว่าคุณแม่ถึงสะพานข้ามสะพานแล้ว (ผู้รู้บางท่านเพิ่มทางแยกด้วย) ไปถึงสุสานจีนฮกเกี้ยนบ่าย 2 โมงครึ่ง และเอาตัวฉู่ลงหลุม ท่านว่าให้บุตรหลานเอาดินคนละกำมือใส่ลงไปในหลุมด้วย และได้ทำพิธีส่องเกงไหว้อาหารหวานคาวผลไม้น้ำชาที่จะตั้งป้ายเวียนรอบบ่องป๋าย โดยวนขวา 3 รอบ วนซ้าย 3 รอบ คุกเข่าไหว้ด้วยธูป 2 ดอก 4 ครั้ง กราบ 4 ครั้ง ผู้ทำพิธีส่องเกงโดยนายฮกใส่ชุดดำเดินสั่นระฆังพร้อมสวดมนต์นำตามด้วยบุตรชายคนโตถือตงฮวน โดยวนขวา 3 รอบ วนซ้าย 3 รอบ คุกเข่าไหว้ด้วยธูป 2 ดอก 4 ครั้ง กราบ 4 ครั้ง ผู้ทำพิธีส่องเกง และกงเตกโดยนายฮกใส่ชุดดำเดินสั่นระฆังพร้อมสวดมนต์นำตามด้วยบุตรชายคนโตถือตงฮวน บุตรหลานเดินตามกันเป็นแถว แล้วเอาตงฮวนไปปักไว้เหนือบ่องป๋าย ต่อจากนั้นนายฮกเอาถั่วต่างๆข้าวเปลือกตาปูเหรียญ (นายปุ๋ยเรียกว่า หง่อกอก) แจกบุตรหลานให้เอาไปปลูก เผากระดาษเงิน โคมไฟ (เต้ง)  และบ้านกระดาษทั้ง 4 หลัง (นายปุ๋ยเรียกว่า เป๋ง บางท่านเรียกว่า วอ) ส่งให้คุณแม่บนสวรรค์ เสร็จพิธีบ่าย 3 โมง หลังจากนั้นก็เอารูปคุณแม่ (นายฮกบอกว่าระวังอย่าให้คว่ำหน้า) และกระถางธูปกลับที่บ้านท่าซอ (นายฮกบอกว่าให้เชิญวิญญาณคุณแม่ไปอวยพรให้บุตรหลานด้วยก่อนไปสถิตย์อยู่บนสวรรค์)

         วันรุ่งขึ้นมาเยี่ยมบ่องป๋าย และได้เอาดอกไม้ที่ประดับกับรถบุบผาชาติมาวางไว้ที่บ่องป๋ายด้วยความระลึกถึงคุณความดีของคุณแม่ หลังจากนั้นก็ถอดเอาสิ่งของจากพวงหรีด มี คัมภีร์ที่ใช้เทศนา 3 คัมภีร์ ที่ปูนั่งอาสนะ 3 ผืน ย่าม และช้อน มาถวายพระที่วัดเชิงทะเล ท่านบังสุกุลให้ และอุทิศบุญกุศลให้คุณแม่ ญาติ และผู้ที่ถวายพวงหรีดเหล่านั้น 
หลังจากนั้นก็ได้มาเยี่ยมบ่องป๋ายอีก ดูนายปุ๋ยช่างทำบ่องป๋ายเอาดินปิดหลุมเรียบร้อย





 เมื่อครบกำหนด 49 วัน บุตรหลานจะมาทำพิธีตั้งป้ายบูชาคุณแม่และคุณพ่อที่บ้านท่าซอ อำเภอท้ายเหมือง จ. พังงาอีกครั้งตรงกับวันที่ 17 มีนาคม 2560 และมีพิธีส่องเกง ทำพิธีโดยนายเส๊ (บุตรแป๊ะจุยห้าย ซึ่งเป็นซินแสอยู่ที่จุ้ยตุ่ย ใกล้ศาลเจ้าแม่พระโพธิสัตว์กวนกิม)








วันที่ 24 มีนาคม 2560 ทำพิธีตั้งป้ายที่บ่องป้ายหน้าบ่องป๋ายคุณพ่อคุณแม่ที่สุสานจีนฮกเกี้ยนเชิงทะเล จ. ภูเก็ต ทำพิธีโดยนายเส๊ (บุตรแป๊ะจุยห้าย ซึ่งเป็นซินแสอยู่ที่จุ้ยตุ่ย ใกล้ศาลเจ้าแม่พระโพธิสัตว์กวนกิม)







นายปุ๋ยเรียกว่า หง่อกอก


                           







วันที่ 2 เมษายน 2560 ทำพิธีฉลองบ้านใหม่ (เชียถ้อ) ที่บ่องป๋ายคุณพ่อคุณแม่ที่สุสานจีนฮกเกี้ยนเชิงทะเล จ. ภูเก็ต ทำพิธีโดยนายเส๊สวดมนต์ไหว้เจ้าที่และเชิญเทวดามารับของไหว้ 5 ที่มีเหนือบ่องป๋ายข้างบ่องป๋ายซ้ายขวาหน้าบ่องป๋ายใกล้บ่อน้ำ และตรงกลางบ่องป๋าย อีกหนึ่งที่มีไก่ต้มสุราขนมผลไม้ โดยให้บุตรชายคนโตเป็นผู้นำนั่งคุกเข่าไหว้ เริ่มไหว้ด้านข้างซ้ายมือวนซ้ายไปไหว้ที่ด้านเหนือบ่องป๋าย ไหว้ด้านข้างขวา และไหว้ด้านหน้าแล้วไปไหว้ตรงกลาง มีนายปุ๋ยช่างทำบ่องป๋ายมาร่วมพิธีด้วย นายปุ๋ยว่าเหล่าแม่ทัพและทหารมารับของไหว้เสร็จแล้วผู้ทำพิธีแจกถั่วต่างๆข้าวเปลือกตาปูเหรียญ (นายปุ๋ยเรียกว่า หง่อกอก) แจกบุตรหลานให้เอาไปปลูก เผากระดาษทองกระดาษเงิน ในวันนี้ตรงกับเทศกาลเฉ่งเบ๋งจึงรวมญาติมาทำบุญให้คุณพ่อคุณแม่และญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงถือว่าเป็นวันกตัญญูกตเวทีร่วมทำบุญโดยสามัคคี มีความสุขโดยทั่วกัน ขอให้ญาติพี่น้องทุกท่านมีความสุขสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาคุณแม่เคยพูดไว้ว่า ขอให้โชคดีและมีความสุขทุกคน






หมายเหตุ ศัพท์ภาษาฮกเกี้ยนมีเรียกชื่อสิ่งเดียวกันหลายคำแต่ความหมายไม่ต่างกันมากนัก  
              เช่นเดียวกับภาษาไทย คำว่า มาติกา บังสุกุล บังสกุล บาลีว่า ปังสุกุล (ผ้าคลุกฝุ่น)
              ที่พระสวดคาถาว่า อนิจจา วต สังขารา... เป็นต้น หมายถึง สังขารทั้งหลาย
              (ร่างกาย ความคิดดี ไม่ดี และกลางๆ) ไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป
              การระงับสังขารเสียได้ย่อมเป็นสุข ท่านหมายถึงไม่เกิดแล้วไม่มีสังขารย่อมมีสุข

ขอขอบคุณทุกๆคนที่มาช่วยงานบุญนี้ให้สำเร็จลงด้วยความสามัคคีอันดีงาม
ขอขอบคุณเวปไซต์จาก Google และท่านผู้รู้ที่ให้คำแนะนำ
ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ให้ร่ำรวยและโชคดีมีสุขทุกท่านเทอญ
ถ้าหากผู้ชมท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมช่วยส่งทาง Line ID: 0993613309 ขอบคุณ

ประเพณีจัดงานผู้วายชนม์ในอดีตประมาณปี พ.ศ. 2494
ของคุณปู่จู้อ่าเฉี่ยวอดีตฮวดกั๊ว (คนเชิญพระจีนมาเข้าทรง)
ของศาลเจ้าส่ามอ๋องฮู่ ต. เชิงทะเล อ. ถลาง จ. ภูเก็ต

  


  











  

 





 


ประเพณีจัดงานผู้วายชนม์ในอดีต ปี พ. ศ. 2536
ของคุณย่าเต็งเต็วะ อยู่ที่ ต. เชิงทะเล จ. ภูเก็ต






ประเพณีจัดงานผู้วายชนม์ในอดีต ปี พ.ศ. 2558
ของคุณอากอกมีศักดิ์เป็นพี่สาวของคุณพ่อ ต. เชิงทะเล จ. ภูเก็ต